อาการข้างเคียงแบบไม่รุนแรงหลังฉีดวัคซีนโควิด 19 ที่พบได้บ่อย
การฉีดวัคซีนโควิด 19 พบว่ามีอาการข้างเคียงที่พบได้บ่อย ได้แก่
อาการปวด บวม แดง คัน หรือช้ำ ตรงจุดที่ฉีดยา
รู้สึกอ่อนเพลีย ไม่สบายตัว ปวดหัวเล็กน้อย
มีอาการไข้ ครั่นเนื้อครั่นตัว ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและตามข้อ
มีอาการคลื่นไส้
กรณีของวัคซีนโควิด 19 ประเภท mRNA พบว่า เข็มที่ 2 มีแนวโน้มอาการข้างเคียงรุนแรงมากกว่าเข็มแรก แตกต่างจากวัคซีนประเภท viral vector ที่เข็มที่สองมักจะมีแนวโน้มรุนแรงน้อยกว่าเข็มแรก
ในประเทศไทยโดยภาพรวมแล้ว พบอาการข้างเคียงที่เกิดขึ้นหลังฉีดวัคซีนบ้าง เช่น ก่อนหน้านี้มีรายงานผู้เข้ารับการฉีดวัคซีน Sinovac แล้วมีอาการคล้ายอัมพฤกษ์ มีอาการชาหรืออ่อนแรงครึ่งตัว ซึ่งอาจเป็นความผิดปกติทางระบบประสาทแบบชั่วคราว อาจเกิดจากร่างกายไม่พร้อม อ่อนเพลีย หรือกลัว
แต่พบผู้มีอาการไม่พึงประสงค์ในสัดส่วนที่น้อยมาก และเป็นผลข้างเคียงชนิดที่ไม่รุนแรง โดยส่วนมากสามารถหายได้เองหลังฉีดวัคซีนประมาณ 1 – 3 วัน หรือไม่เกิน 1 สัปดาห์
และจากข้อมูลล่าสุด หลาย ๆ ประเทศทั่วโลก มีการรายงานอาการข้างเคียงหลังจากฉีดวัคซีนโควิด 19 (รวมทุกชนิดทั้งชนิด mRNA, Viral vector และชนิดเชื้อตายแล้ว) พบว่าผู้เข้ารับวัคซีนบางรายเกิดตุ่มน้ำใส แสบ คัน ปวดแสบปวดร้อน โดยขึ้นตามบริเวณร่างกายคล้ายจะเป็นงูสวัส
เบื้องต้นนักวิชาการตั้งสมมติฐานว่าอาจเกิดจากวัคซีนทำปฏิกิริยากับระบบภูมิคุ้มกันแล้วกระตุ้นให้เกิดอาการของโรคงูสวัสขึ้น ซึ่งในประเทศไทยนั้น อยู่ในขั้นตอนการเก็บรวบรวมข้อมูลของอาการข้างเคียงที่เกิดขึ้นนี้
อาการข้างเคียงแบบไหน ห้ามฉีดเข็มที่ 2 ต่อ
มีข้อแนะนำว่า ห้ามรับการฉีดเข็มที่ 2 ต่อ หากมีอาการแพ้วัคซีนโควิด 19 ทันทีหลังได้รับการฉีด ดังนี้
คัน เป็นผื่นแดง หรืออาการลมพิษ
ปาก ลิ้น หน้า หรือคอบวม
คลื่นไส้ อาเจียน
เวียนศีรษะ วูบ ความดันต่ำ หัวใจเต้นเร็ว
หายใจติดขัด หอบเหนื่อย คัดจมูก
พูดลำบาก
วัคซีนโควิด 19 ในประเทศไทยมีกี่ยี่ห้อ ใช้เทคนิคอะไรในการผลิต
สำหรับเกณฑ์ในการพิจารณารับวัคซีนสำหรับประเทศไทยนั้น จะเน้นพิจารณารับวัคซีนที่ผ่านการขึ้นทะเบียนและได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อย่างถูกต้อง รวมถึงมีการอนุมัติใช้แล้วในหลากหลายประเทศและได้รับการรับรองจากองค์กรอนามัยโลกแล้ว
สำหรับวัคซีนโควิด 19 ที่จะนำมาใช้ในประเทศไทย (อัปเดตล่าสุด 21 เมษายน 2564) ได้แก่ วัคซีนโควิด 19 แอสตราเซเนกา (AstraZeneca) และ วัคซีนโควิด 19 ซิโนแวค (Sinovac)
วัคซีนแอสตร้าเซนเนกา (AstraZeneca) เป็นวัคซีนประเภท Viral Vector สำหรับฉีดในแก่ผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป (แต่ในประเทศไทยใช้ในผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป) โดยจะฉีดบริเวณต้นแขนทั้งหมด 2 เข็ม ซึ่งทางคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค กำหนดให้ฉีดแต่ละเข็มห่างกัน 10 – 12 สัปดาห์ (ไม่แนะนำให้ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องอย่างมากฉีดวัคซีนดังกล่าว)
วัคซีนซิโนแวค (Sinovac) เป็นวัคซีนชนิดเชื้อตาย สำหรับฉีดในผู้ที่มีอายุระหว่าง 18 – 59 ปี โดยจะฉีดบริเวณต้นแขนทั้งหมด 2 เข็ม ซึ่งทางคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค กำหนดให้ฉีดแต่ละเข็มห่างกัน 2 – 4 สัปดาห์ ยกเว้นผู้ที่อยู่ในพื้นที่ระบาดรุนแรง ให้ฉีดห่างกัน 2 สัปดาห์
ปัจจุบัน ประเทศไทยกำลังเร่งติดต่อบริษัทผู้ผลิตวัคซีนรายอื่นเพิ่มเติม และกำลังอยู่ในช่วงการเจรจา ซึ่งเมื่อไรที่เราสามารถสั่งซื้อวัคซีนเข้ามาได้หลากหลายยี่ห้อมากขึ้น ก็จะช่วยเพิ่มทางเลือกในการรับการฉีดวัคซีนให้กับเรามากขึ้น
ภูมิคุ้มกันจากวัคซีนโควิด 19 จะอยู่ในร่างกายเรานานเพียงใด
ปัจจุบัน เรายังไม่ทราบประสิทธิภาพในการยับยั้งการติดไวรัส ทุกคนที่เข้ารับการฉีดวัคซีน ยังมีโอกาสติดเชื้อได้จากหลายปัจจัย เช่น การกลายพันธุ์ของไวรัส หรือบางคนอาจจะยังไม่ทันที่วัคซีนจะกระตุ้นภูมิคุ้มกันร่างกายได้ก็มาสัมผัสเชื้อเสียก่อน ก็มีโอกาสติดเหมือนกัน
แต่เบื้องต้น การศึกษาของสถาบันวิจัยด้านภูมิคุ้มกันวิทยา ลา จอลลา (La Jolla Institute for Immunology) พบว่าวัคซีนสามารถช่วยป้องกันโรคได้อีกอย่างน้อย 6 เดือนขึ้นไป ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับร่างกายของแต่ละคน นอกจากนี้ ยังไม่ทราบว่าเกิดภูมิคุ้มกันได้อีกนานถึงเมื่อไร แต่ก็มีข้อแนะนำให้ฉีดวัคซีนให้ครบทั้ง 2 เข็ม (หรือตามโดสที่แนะนำ) เพื่อประสิทธิภาพสูงสุดในการสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกาย
ใครที่ควรเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด 19 กลุ่มไหนมีโอกาสได้รับก่อน
เนื่องจากวัคซีนในไทยตอนนี้ยังมีปริมาณไม่เพียงพอ จึงต้องมีการจัดลำดับความสำคัญว่ากลุ่มใดควรได้รับการฉีดวัคซีนก่อน เมื่อพิจารณาสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ในประเทศไทยช่วงที่ผ่านมา มีข้อมูลสำคัญที่น่าสนใจ คือ
เมื่อผู้ป่วยอายุเพิ่มขึ้น จะมีแนวโน้มการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น
ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง หรือเสียชีวิต มักมีโรคประจำตัวมากกว่า 1 โรคขึ้นไป เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคตับ โรคไตเรื้อรัง และโรคมะเร็ง เป็นต้น
ประกอบกับจุดประสงค์หลักที่ต้องการลดความรุนแรงของอาการ ลดอัตราการเข้าโรงพยาบาลในกลุ่มเสี่ยง และลดอัตราการเสียชีวิต ดังนั้น กลุ่มเป้าหมายที่มีสิทธิได้รับวัคซีนก่อน ตามมติอนุคณะกรรมการอำนวยการการใช้วัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จึงได้แก่
บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าทั้งภาครัฐและเอกชน
ผู้ที่มีโรคประจำตัว โดยเฉพาะโรคที่มีภาวะเรื้อรังต่าง ๆ หรือโรคในกลุ่มเสี่ยง ได้แก่
2.1 โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง
2.2 โรคหัวใจและหลอดเลือด
2.3 โรคไตเรื้อรัง
2.4 โรคหลอดเลือดสมอง
2.5 โรคมะเร็งทุกชนิด
2.6 โรคเบาหวาน
2.7 โรคอ้วน (อัปเดต 1 พฤษภาคม 2564)
ผู้สูงอายุตั้งแต่อายุ 60 ปีขึ้นไป
เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรคโควิด 19 เช่น อสม./อสต. ทหาร ตำรวจ
ทั้งนี้ หากวัคซีนมีปริมาณมากขึ้นแล้ว จะพิจารณาฉีดให้กับประชาชนทั่วไป
ศูนย์ข้อมูลโควิด-19: อาการข้างเคียงแบบไม่รุนแรงหลังฉีดวัคซีนโควิด 19 ที่พบได้บ่อย อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://doctorathome.com/covid-19