รู้จักกับโรคไวรัสตับอักเสบแต่ละชนิดไวรัสตับอักเสบปัจจุบันมี 5 ชนิด คือ ไวรัสตับอักเสบชนิด เอ บี ซี ดี และอี ซึ่งไวรัสตับอักเสบที่พบบ่อย คือไวรัสตับอักเสบชนิดเอ บี และซี ส่วนไวรัสตับอักเสบชนิดดีและอีพบได้น้อย
ไวรัสตับอักเสบเอ (HEPATITIS A VIRUS)
ไวรัสตับอักเสบเอ ติดต่อโดยการรับประทานอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อนไวรัส เช่น ผักสด น้ำแข็ง อาหารทะเลจำพวกมีเปลือกเช่น กุ้ง ปู หอยที่ปรุงไม่สุก ซึ่งเชื้อมีระยะฟักตัวประมาณ 2 – 6 สัปดาห์ การติดเชื้อในเด็กส่วนใหญ่มีอาการเล็กน้อยหรือไม่มีอาการ แต่ในผู้ใหญ่จะมีอาการแสดงของตับอักเสบเฉียบพลันที่รุนแรงและชัดเจนกว่า
อาการโรคไวรัสตับอักเสบเอ
อุจจาระ สีซีด
ปัสสาวะ สีเข้ม ตาและตัวเหลือง
อ่อนเพลีย อาจมีไข้
คลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร
ปวดท้อง
เด็กที่อายุน้อยกว่า 6 ปีมักไม่มีอาการ วัยรุ่นขึ้นไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ส่วนใหญ่จะมีอาการตับอักเสบเฉียบพลัน โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคตับอักเสบเรื้อรังจากสาเหตุอื่นมาก่อน
ผู้ที่ควรรับวัคซีนไวรัสตับอักเสบเอ
เด็กอายุมากกว่า 1 ปี
ผู้ป่วยโรคตับอักเสบเรื้อรัง
ผู้ที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบเอ หรือมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบเอ
ผู้ที่มีพฤติกรรมรักร่วมเพศ (กลุ่มเพศชาย)
ผู้ที่ใช้สารเสพติด
พ่อครัวหรือแม่ครัวที่ต้องปรุงอาหารเป็นประจำ
ผู้ที่เดินทางไปต่างประเทศที่มีความเสี่ยงด้านสุขอนามัยต่ำหรือเป็นสถานที่ที่มีการระบาดของเชื้อไวรัสตับอักเสบ เอ ควรได้รับการฉีดวัคซีนก่อนเดินทางประมาณ 1 เดือน
ไวรัสตับอักเสบบี (HEPATITIS B VIRUS)
ไวรัสตับอักเสบบี เป็นสาเหตุของการเกิดภาวะตับอักเสบเรื้อรัง ตับแข็ง และมะเร็งตับ ไวรัสตับอักเสบบีนั้นมีการติดต่อผ่านทางเลือด และการติดต่อจากแม่สู่ลูกซึ่งเป็นทางติดต่อที่พบมากที่สุด
การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี
การมีเพศสัมพันธ์กับคนที่มีเชื้อโดยไม่ได้สวมถุงยางอนามัย
การใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน
การใช้เข็มสักตามตัวหรือสีที่ใช้สักตามตัวร่วมกัน และการเจาะหู
การใช้แปรงสีฟัน มีดโกน ที่ตัดเล็บร่วมกัน
การติดเชื้อขณะคลอดจากแม่ที่มีเชื้อ (ถ้าแม่มีเชื้อลูกมีโอกาสได้รับเชื้อ 90%)
การถูกเข็มตำจากการทำงาน
การสัมผัสกับเลือด น้ำเลือด น้ำคัดหลั่ง โดยผ่านเข้าทางบาดแผล
อย่างไรก็ดี เชื้อนี้จะไม่ติดต่อกันทางลมหายใจ อาหารหรือน้ำดื่ม การให้นม และการจูบกัน (ถ้าปากไม่มีแผล)
อาการโรคไวรัสตับอักเสบบี
เชื้อจะมีระยะฟักตัวประมาณ 2-3 เดือน แล้วจึงเริ่มแสดงอาการ ซึ่งส่วนใหญ่จะมีอาการ
อ่อนเพลีย คล้ายเป็นหวัด
คลื่นไส้ อาเจียน
จุกแน่นใต้ชายโครงขวาจากตับโต
ปัสสาวะเข้ม
ตาเหลือง
ผู้ที่ควรรับวัคซีนไวรัสตับอักเสบบี
ทารกแรกเกิดทุกราย เด็ก และวัยรุ่นที่ไม่ได้รับวัคซีนเมื่อแรกเกิด
ผู้ป่วยโรคตับเรื้อรัง
ผู้ที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบบี
ผู้มีพฤติกรรมรักร่วมเพศ
ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่ทำการฟอกไต
ผู้ป่วยที่ได้รับเลือดบ่อย ๆ
ผู้ที่ใช้สารเสพติดชนิดฉีดเข้าเส้น
ผู้ที่ต้องเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค
ไวรัสตับอักเสบซี (HEPATITIS C VIRUS)
ผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีมักจะไม่ทราบมาก่อนว่ามีเชื้อนี้อยู่ในร่างกาย จะทราบก็ต่อเมื่อไปตรวจร่างกายแล้วพบค่าการอักเสบของตับผิดปกติ และตรวจเลือดพบการติดเชื้อ
การติดเชื้อไวรัสชนิดซี สามารถติดต่อกันทางเลือดหรือเพศสัมพันธ์คล้ายกับไวรัสตับอักเสบบี แต่ไม่สามารถติดต่อกันได้ทางการให้นมบุตร การจามหรือไอรดกัน การรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำด้วยกัน และการใช้ถ้วยชามร่วมกัน
อาการโรคไวรัสตับอักเสบซี
ผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบซี ส่วนใหญ่จะไม่ทราบว่าตัวเองติดเชื้อ เนื่องจากมักไม่แสดงอาการ ทำให้เมื่อติดเชื้อเข้าสู่ร่างกาย เกิดการดำเนินของโรคแบบค่อยเป็นค่อยไป หรืออาจมีอาการน้อยและอาการเหมือนโรคทั่วไป เช่น
เบื่ออาหาร
อ่อนเพลีย
ไข้ต่ำๆ
คลื่นไส้อาเจียน
ปัสสาวะสีเข้ม
ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบซี ผู้ที่เป็นและไม่ได้รับการรักษาจะกลายเป็นไวรัสตับอักเสบซีเรื้อรัง และในที่สุดจะเกิดภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญ ได้แก่ ตับแข็ง และมะเร็งตับ
ไวรัสตับอักเสบดี (HEPATITIS D VIRUS)
เป็นไวรัสที่ไม่สมบูรณ์ ต้องอยู่ร่วมกับไวรัสตับอักเสบบี สามารถติดต่อกันได้ผ่านทางการสัมผัสกับเลือดที่มีเชื้อ ผ่านเข็มฉีดยาที่ปนเปื้อน หรือมีเพศสัมพันธ์
การติดเชื้อจะเกิดขึ้นพร้อมกับไวรัสตับอักเสบบีหรือเกิดในผู้ป่วยที่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบบีแฝงอยู่ ในร่างกาย โดยอาการจะทำให้เกิดตับอักเสบซ้ำซ้อนขึ้นมาในผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบบี การรักษาเป็นการรักษาร่วมกันไปกับไวรัสตับอักเสบบี
อาการโรคไวรัสตับอักเสบดี
อุจจาระ สีซีด
ปัสสาวะ สีเข้ม ตาและตัวเหลือง
อ่อนเพลีย อาจมีไข้
คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร
ปวดท้อง
ถึงแม้ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบดี แต่ยังมีวัคซีนสำหรับไวรัสตับอักเสบบี และเนื่องจากการเกิดโรคตับอักเสบดีต้องอาศัยการติดเชื้อไวรัสอักเสบบีมาก่อน เพราะฉะนั้นการได้รับวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบีจะช่วยป้องกันการติดเชื้อทั้งสองสายพันธุ์ได้
ไวรัสตับอักเสบอี (HEPATITIS 5 VIRUS)
เป็นการติดเชื้อไวรัสที่ตับและทำให้ตับเกิดการอักเสบ มีลักษณะคล้ายไวรัสตับอักเสบเอคือ ไม่เป็นโรคเรื้อรังเหมือนโรคไวรัสตับอักเสบบี ซี และดี และเมื่อร่างกายต่อสู้กับการติดเชื้อแล้วก็จะหายเป็นปกติ การแพร่เชื้อของโรคไวรัสตับอักเสบอี เกิดจากอาหาร น้ำดื่ม หรืออุจจาระที่มีการปนเปื้อน
อาการโรคไวรัสตับอักเสบอี
ผิวเหลือง ตาขาว(ดีซ่าน)
ปัสสาวะสีเข้ม
อุจจาระสีอ่อน
กดเจ็บบริเวณชายโครงด้านขวา(ตำแหน่งของตับ)
ปวดช่องท้อง
คลื่นไส้ และมีไข้