เริมในช่องปากชนิดเฉียบพลัน (Acute herpetic gingivostomatitis) เฮอร์แปงไจนา (Herpangina)
ทั้ง 2 โรคนี้เป็นแผลเปื่อยในช่องปากที่เกิดจากเชื้อไวรัสซึ่งพบได้บ่อยในเด็ก มีอาการแสดงคล้ายกัน คือ มีไข้ และแผลเปื่อยหลายแห่งในช่องปาก ทำให้เจ็บปากกลืนลำบาก อาจกินอาหารและดื่มน้ำได้น้อยจนเกิดภาวะขาดน้ำได้
สาเหตุ
เริมในช่องปากชนิดเฉียบพลัน เกิดจากการติดเชื้อครั้งแรก มักเกิดจากเชื้อไวรัสเริมชนิดที่ 1 (herpes simplex virus/HSV-1) เป็นส่วนใหญ่ พบบ่อยในเด็กอายุ 10 เดือนถึง 3 ปี ติดต่อโดยการสัมผัสโดยตรง ระยะฟักตัว 2-3 วัน (อาจนานถึง 20 วัน)
เฮอร์แปงไจนา เกิดจากการติดเชื้อไวรัสค็อกแซกกี (coxsackie virus) ซึ่งอยู่ในตระกูลเดียวกับไวรัสที่ทำให้เกิดโรคมือ-เท้า-ปาก แต่เป็นชนิดเอ 2-6 และเอ 10 พบบ่อยในเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี ติดต่อโดยการสัมผัสโดยตรง ระยะฟักตัว 2-9 วัน
อาการ
เด็กมักมีไข้สูงเกิดขึ้นเฉียบพลัน มีอาการเจ็บในปากหรือคอหอย ไม่ยอมกินอาหารและดื่มน้ำ เด็กเล็กอาจร้องกวน ไม่ยอมดูดนม ถ้าเป็นอยู่หลายวันอาจมีภาวะขาดน้ำตามมา ไข้มักจะเป็นอยู่ 1-4 วัน (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) เด็กเล็กบางคนอาจมีอาการชักจากไข้
ส่วนแผลในปากมีลักษณะดังนี้
สำหรับโรคเริม จะมีตุ่มน้ำเล็ก ๆ พุขึ้นที่เยื่อบุของริมฝีปาก เหงือก ลิ้น และเพดานปาก แล้วแตกเป็นแผลตื้นสีเทาบนพื้นสีแดง ขนาด 1-3 มม. มักมีอาการเหงือกบวมแดง ซึ่งอาจมีเลือดซึมและมีกลิ่นปาก มักตรวจพบต่อมน้ำเหลืองใต้คางโตและเจ็บ อาการต่าง ๆ จะเป็นอยู่ประมาณ 4-5 วันแล้วจะเริ่มทุเลา แผลมักหายได้เองภายใน 10-14 วัน
สำหรับเฮอร์แปงไจนา จะมีจุดแดงหรือตุ่มน้ำเล็ก ๆ พุขึ้นที่เพดานอ่อน ลิ้น ลิ้นไก่ ผนังคอหอย ทอนซิล แล้วแตกเป็นแผลสีขาวปนเทา ขนาด 2-5 มม. ซึ่งมักหายได้เองภายใน 5-7 วัน
ภาวะแทรกซ้อน
ที่พบบ่อย คือ ทำให้กินอาหารและดื่มน้ำได้น้อย เกิดภาวะขาดน้ำได้
สำหรับโรคเริม เชื้ออาจแพร่ไปที่กระจกตา ทำให้กระจกตาอักเสบถึงสายตาพิการได้ (ดังนี้ ทุกครั้งที่สัมผัสถูกแผลเริม ควรล้างมือด้วยน้ำกับสบู่ เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่ไปที่กระจกตา)
การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และการตรวจร่างกายเป็นหลัก ซึ่งมักตรวจพบไข้ ตุ่มน้ำเล็ก ๆ ในช่องปาก ต่อมน้ำเหลืองใต้คางโตและเจ็บ บางรายพบภาวะขาดน้ำ
ในรายที่เป็นเรื้อรังหรือสงสัยว่าเกิดจากสาเหตุอื่น แพทย์จะทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น การตรวจเพาะเชื้อ การตรวจชิ้นเนื้อ เป็นต้น
การรักษาโดยแพทย์
1. ให้การรักษาตามอาการ ได้แก่ ให้ยาพาราเซตามอลลดไข้
แนะนำให้พยายามป้อนอาหารเหลวหรือของน้ำ ๆ (เช่น นม น้ำเต้าหู้ น้ำหวาน ข้าวต้ม โจ๊ก แกงจืด) โดยใช้ช้อนป้อนหรือกระบอกฉีดยาค่อย ๆ หยอดเข้าปาก ให้เด็กอมน้ำแข็งก้อนเล็ก ๆ ดื่มน้ำหรือนมเย็น ๆ หรือกินไอศกรีมเพื่อลดอาการ
ในรายที่เจ็บแผลรุนแรง (ซึ่งพบได้น้อย) แพทย์อาจหายาชาชนิดเจลป้ายแผลในปากเพื่อลดปวด
2. ถ้ามีภาวะขาดน้ำหรือกินไม่ได้ แพทย์จะให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำ
3. ถ้าวินิจฉัยว่าเป็นเริมในช่องปาก แพทย์จะพิจารณาให้ยาต้านไวรัส เช่น อะไซโคลเวียร์ นาน 7 วัน
4. หากอาการไม่ทุเลาภายใน 4-7 วัน หรือสงสัยว่าเกิดจากสาเหตุอื่น จะทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติม และให้การรักษาตามสาเหตุที่ตรวจพบ
ผลการรักษา มักจะหายได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์
การดูแลตนเอง
หากมีแผลเปื่อยในปากที่ปวดเจ็บมาก กินอาหารและดื่มน้ำลำบาก หรือมีไข้ร่วมด้วย ควรปรึกษาแพทย์
เมื่อตรวจพบว่าเป็นเริมในช่องปากชนิดเฉียบพลัน หรือเฮอร์แปงไจนา ควรดูแลรักษา ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ และติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้าอาการไม่ทุเลาใน 4-7 วัน, มีไข้กำเริบใหม่, กินอาหารไม่ได้หรือดื่มน้ำได้น้อย, มีอาการที่สงสัยว่าเป็นผลข้างเคียงจากยาหรือแพ้ยา หรือมีความวิตกกังวล
การป้องกัน
1. หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่เป็นมีตุ่มตามผิวหนังหรือเยื่อเมือก หรือผู้ที่มีแผลเปื่อยในช่องปาก
2. ไม่ใช้สิ่งของเครื่องใช้ (เช่น จาน ชาม แก้วน้ำ มีดโกน ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว เสื้อผ้า เครื่องสำอาง) ร่วมกับผู้อื่น
3. หมั่นล้างมือด้วยน้ำกับสบู่ หลังสัมผัสตัวผู้อื่น โดยเฉพาะผู้ที่เป็นเริมหรือเฮอร์แปงไจนา
ข้อแนะนำ
เด็กที่มีไข้และแผลเปื่อยในปาก ควรแยกออกจากโรคมือ-เท้า-ปาก ซึ่งจะมีผื่นขึ้นที่มือและเท้าร่วมด้วย และกลุ่มอาการสตีเวนส์จอห์นสัน ซึ่งจะมีผื่นขึ้นตามตัวร่วมด้วย
โรคเริมในช่องปากชนิดเฉียบพลัน (Acute herpetic gingivostomatitis) อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://doctorathome.com/disease-conditions