Glycemic Index (GI) หรือค่าดัชนีน้ำตาล เป็นค่าบ่งชี้ระดับน้ำตาลในเลือดหลังรับประทานอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต หากรับประทานอาหารที่มีค่า Glycemic Index สูงก็จะยิ่งส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงเร็ว ซึ่งการอ่านค่าดัชนีน้ำตาลอาจเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับผู้ที่ต้องควบคุมระดับน้ำตาล โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเบาหวาน
ค่า Glycemic Index แบ่งออกได้เป็น 3 ระดับ คือ สูง กลาง และต่ำ โดยผู้ป่วยโรคเบาหวานหรือผู้ที่ใช้ค่าดัชนีน้ำตาลมาเป็นเกณฑ์ในการรับประทานมักมุ่งเน้นไปที่อาหารที่มีค่า GI ต่ำ เพราะจะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ และไม่เป็นอันตราย ขณะที่อาหารที่มีค่า GI สูง จะทำให้น้ำตาลพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วหลังจากการรับประทานจนอาจเป็นอันตรายได้
Glycemic Index กับโรคเบาหวาน
อย่างที่หลายคนทราบ โรคเบาหวานเป็นความผิดปกติของระดับน้ำตาลในเลือด โดยสาเหตุมาจากร่างกายขาดหรือผลิตฮอร์โมนอินซูลินได้น้อยลง ซึ่งกระทบต่อการนำน้ำตาลไปใช้เป็นพลังงานในร่างกาย จึงส่งผลให้ระดับน้ำตาลไม่คงที่และอาจพุ่งสูงขึ้นจนทำให้ไตวายหรือตาบอดได้ ผู้ป่วยโรคเบาหวานจึงต้องใส่ใจเรื่องน้ำตาลในอาหารมากกว่าคนกลุ่มอื่น ๆ
ค่าดัชนีน้ำตาลนั้นจะช่วยให้ผู้ป่วยคาดคะเนได้ว่าหลังจากรับประทานอาหารชนิดนี้เข้าไป ระดับน้ำตาลในเลือดจะค่อย ๆ ดูดซึม หรือจะพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ผู้ป่วยจึงสามารถหลีกเลี่ยงอาหารที่อาจทำให้ระดับน้ำตาลสูงเกินพอดี เพื่อลดความเสี่ยงของภาวะที่เป็นอันตรายได้ อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยอื่นที่อาจส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำตาลในเลือดได้เช่นกัน อย่างยาที่ใช้หรือปัญหาสุขภาพในด้านอื่น ๆ
นอกจากนี้ Glycemic Index ยังอาจเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก โดยมีการศึกษาหลายชิ้นพบว่าอาหารที่มีค่า GI ต่ำอาจช่วยลดปริมาณของไขมัน LDL หรือคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีได้ ซึ่งปริมาณที่ลดลงของไขมันชนิดนี้อาจช่วยลดความเสี่ยงของโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมองลงด้วย
ระดับของ Glycemic Index
ในเบื้องต้น Glycemic Index สามารถหาได้จากตามเว็บไซต์ หนังสือ หรือปรึกษานักโภชนาการ โดยค่า GI แบ่งได้ 3 ระดับ ดังนี้
ระดับต่ำ (0-55)
Glycemic Index ระดับต่ำมักปลอดภัยสำหรับคนทุกกลุ่ม โดยอาหารที่มีค่า GI ต่ำ เช่น นม โยเกิร์ต นมถั่วเหลือง นมอัลมอนด์ น้ำมันมะกอก ข้าวกล้อง สตรอว์เบอร์รี แอปเปิล ชมพู่ แก้วมังกร แครอท มะเขือเทศ ข้าวโพด บรอกโคลี ดอกกะหล่ำ มันหวานต้ม เป็นต้น
ระดับกลาง (56-69)
ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงของโรคเบาหวานและโรคหัวใจ ควรรับประทานแต่พอดี อีกทั้งการบริโภคอาหารที่มีค่าในระดับกลางมากเกินไปอาจทำให้เกิดโรคอ้วนได้ โดยตัวอย่างของอาหารที่มีค่าดัชนีน้ำตาลระดับกลาง เช่น กล้วย สับปะรด ลูกเกด น้ำส้ม น้ำผึ้ง เป็นต้น
Glycemic index กับอาหารผู้ป่วยโรคเบาหวานและคนรักสุขภาพ อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://doctorathome.com/